1.ล้างแอร์เป็นประจำ
เวลาที่เหมาะสมคือ ทุก 6 เดือน หรือดูตามความเหมาะสมในการใช้งาน อย่างเช่น หากเปิดแอร์แล้วไม่เย็น เบื้องต้นให้ถอดแผ่นกรองอากาศออกมาล้างทุก 2 – 3 เดือน เพราะแอร์ที่ใช้งานบ่อย ๆ จะทำให้มีฝุ่น หรือสิ่งสกปรกสะสมอยู่ หากไม่ทำความสะอาด แอร์จะทำงานหนัก และกินไฟมากกว่าเดิม ถ้าฝุ่นละอองเข้าไปอุดตันในท่อน้ำแอร์ จะทำให้แอร์มีน้ำหยด การทำความสะอาดแผ่นกรองหยาบ สามารถช่วยให้แอร์กลับมาทำงานได้ดีขึ้น และการให้ช่างแอร์มาล้างแอร์ จะทำให้แอร์ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
2.เปิดห้องเพื่อระบายอากาศ ก่อนเปิดแอร์
เปิดประตู หน้าต่าง ให้อากาศหมุนเวียน ช่วยระบายความร้อนที่สะสมอยู่ในห้องก่อน เมื่อเปิดแอร์จะทำให้อุณหภูมิในห้องเย็นได้เร็วขึ้น แอร์ไม่ทำงานหนัก ไม่เปลืองค่าไฟ
3.ปิดห้องให้สนิท เมื่อเปิดแอร์ หลีกเลี่ยงการใช้แอร์ในห้องพื้นที่เปิด
ตรวจสอบให้เรียบร้อยว่าประตู หน้าต่างปิดสนิทครบทุกบาน รวมถึงปิดม่านไม่ให้แสงแดดส่องเข้ามาภายในห้อง หากความร้อนจากภายนอกเล็ดลอดเข้ามา แอร์จะทำงานหนักขึ้น
ไม่แนะนำให้ใช้แอร์ในพื้นที่เปิดโล่ง หรือห้องที่ไม่มีประตูกั้น อย่างเช่น ห้องโถง ทางเดิน ทางขึ้นบันได ทางเดินไปห้องอื่น ๆ ที่ไม่มีประตูกั้น เพราะแอร์จะไม่ค่อยเย็น ทำให้แอร์ต้องทำงานหนักกว่าปกติ เปลืองพลังงาน เปลืองค่าไฟเพิ่มขึ้น หากจำเป็น แนะนำให้ติดตั้งฉากกั้น หรือม่านที่สามารถเปิด-ปิดได้ จะได้ช่วยให้แอร์ทำงานหนักน้อยลง
4.เปิดแอร์ 27 องศาเซลเซียส คู่กับเปิดพัดลม
การเปิดแอร์ที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส ก็เพียงพอที่จะทำให้รู้สึกสบายตัว และเมื่อเปิดพัดลมเป่า จะยิ่งทำให้รู้สึกเย็นสบายขึ้นไปอีก เพราะการเปิดพัดลมช่วยในระหว่างที่เปิดแอร์ ช่วยให้ความเย็นจากแอร์กระจายไปทั่วห้อง อุณหภูมิในห้องจะลดลงประมาณ 2 องศาเซลเซียส สามารถประหยัดค่าไฟได้
5.หลีกเลี่ยงการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน และเพิ่มความชื้นในห้องแอร์
การนำของร้อนเข้ามาในห้อง จะทำให้แอร์ทำงานหนักขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มขึ้นในห้อง การมี ต้นไม้ เสื้อผ้าเปียก ภาชนะใส่น้ำของเหลวในห้อง ทำให้แอร์ทำงานหนักขึ้น ส่งผลต่อค่าไฟที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะหลักการการทำงานของแอร์ นอกจากจะใช้พลังงาน 30% ลดอุณหภูมิห้องแล้ว ยังใช้พลังงาน 70% กำจัดความชื้นให้อากาศให้ห้องแห้ง การมีสิ่งที่ก่อความชื้นภายในห้อง ทำให้แอร์ต้องใช้พลังงานทำงานหนัก เพื่อกำจัดความชื้นภายในห้อง การหลีกเลี่ยงไม่นำของชื้น และของร้อนเข้ามาในห้อง เป็นการช่วยให้แอร์ประหยัดพลังงาน ลดค่าไฟได้อีกวิธีหนึ่ง
6.ตั้งเวลาปิดแอร์ ก่อนเลิกใช้งาน 60 นาที
เมื่อปิดแอร์ ความเย็นจะยังอยู่ภายในห้องนั้นประมาณ 30 - 60 นาที เปิดพัดลมเบา ๆ ไปด้วย จะช่วยกระจายความเย็นระหว่างที่แอร์ปิดไปแล้วได้ ตั้งเวลาปิดแอร์ล่วงหน้าเอาไว้ อย่างเช่น ปิดแอร์ก่อนตื่นนอน 60 นาที จะช่วยประหยัดค่าไฟได้
7.เปลี่ยนแอร์เก่า เป็นแอร์ใหม่
แอร์เครื่องเดิมที่มีอายุการใช้งาน ประมาณ 10 - 15 ปีขึ้นไป แม้ว่าแอร์ที่ใช้ยังดูดี ทำงานได้ ให้ความเย็นได้ จึงยังไม่เปลี่ยนเครื่องใหม่ แต่ระบบภายในของแอร์ก็เสื่อมไปตามการใช้งาน อาจทำให้เปลืองค่าไฟได้ เพราะแอร์เก่าต้องใช้พลังงานในการทำความเย็นมากกว่าปกติ ปัจจุบันมีการพัฒนาระบบของแอร์ให้ประหยัดพลังงาน และประหยัดไฟมากขึ้น อย่างเช่น แอร์ระบบ inverter
8.เลือกค่า BTU แอร์ ให้เหมาะกับขนาดห้อง
ควรเลือกค่า BTU ให้เหมาะสมกับขนาดห้อง เลือกรุ่นที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 โดยสามารถพิจารณาเลือกได้ ดังนี้
ขนาดห้อง (เพดานสูง 5 ม.) : 9 - 15 ตร.ม. ขนาดเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสม : 9,000 BTU
ขนาดห้อง (เพดานสูง 5 ม.) : 16 - 20 ตร.ม. ขนาดเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสม : 12,000 BTU
ขนาดห้อง (เพดานสูง 5 ม.) : 21 - 30 ตร.ม. ขนาดเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสม : 18,000 BTU
ขนาดห้อง (เพดานสูง 5 ม.) : 31 - 40 ตร.ม. ขนาดเครื่องปรับอากาศที่เหมาะสม : 24,000 BTU
9.ติดตั้งคอมเพรสเซอร์ในบริเวณที่เหมาะสม
ตำแหน่งที่เหมาะสมในการติดตั้ง ควรเป็นพื้นที่อากาศถ่ายเท เป็นที่ร่ม ไม่โดนแดดโดนฝนโดยตรง ไม่ควรติดตั้งบริเวณดาดฟ้า และพื้นปูน แนะนำให้ติดตั้งยกสูงเหนือพื้น อากาศจากคอมเพรสเซอร์จะได้ถ่ายเทได้ดี คอมเพรสเซอร์จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เปลืองไฟ