ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ เมื่อวานนี้ (9 มกราคม 2568) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้เดินทางมายื่นฟ้อง ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้ว่าฯ กทม. และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบกและทางอากาศ (คชก.) ในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฐานใช้อำนาจและดุลยพินิจโดยมิชอบและละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา 9(1) และ (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 สืบเนื่องจาก คชก. ให้ความเห็นชอบรายงานการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยไปเมื่อ 2 เม.ย.2564 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ผ่านความเห็นไปเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.64 แต่ปรากฏว่า ในรายงานดังกล่าวทั้งฉบับ ไม่มีการเขียนถึงการทุบรื้อสะพานสำคัญ 3 สะพานเลย คือ สะพานข้ามแยกถนนสุทธาวาส ตัดถนนจรัญสนิทวงศ์ สะพานข้ามแยกราชเทวี และสะพานข้ามแยกประตูน้ำ เมื่อไม่มีการเขียนถึง จึงไม่ต้องกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามที่พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2561 กำหนดแต่อย่างใด อีกทั้งยังร่นระยะทางรถไฟฟ้า จากเดิมต้องไปสิ้นสุดที่สถานีตลิ่งชัน แต่กลับร่นมาสิ้นสุดที่สถานีบางขุนนนท์ ทำให้เส้นทางหายไป 1 สถานี ระยะทางหายไป 3.1 กม. โดยไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายงาน EIA เพื่อเสนอให้ คชก.และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบก่อนแต่อย่างใด นอกจากนั้น ตามแนวเส้นทางที่จะต้องสร้างสถานีรถไฟฟ้า 11 สถานี จะต้องมีการรื้อถอนย้ายต้นไม้ใหญ่จำนวน 365 ต้นล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน ก่อนที่จะออกไปอนุบาลเพื่อนำกลับมาปลูกใหม่ในที่เดิม แต่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามมาตรการที่เขียนไว้ในรายงาน EIA แต่อย่างใด การตัดแต่ง การรื้อถอนต้นไม้ไม่เป็นไปตามหลักการรุกขกร ทำให้ต้นไม้หลายต้นที่ขึ้นบัญชีไว้ยืนต้นแห้งตายไปเป็นจำนวนมาก และยิ่งมาดำเนินการช่วงฤดูหนาว-ฤดูร้อน โอกาสที่ต้นไม้ใหญ่ทั้ง 365 ต้นจะตายหมด จึงเป็นไปได้มาก ดังนั้น จึงมาฟ้องคดีเพื่อระงับโรงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายดังกล่าวเสีย และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วย