เมืองคอนอ่วม!ฝนถล่มคลื่นทะเลซัด
ชายฝั่ง ปชช.เดือนร้อนเป็นวงกว้าง
วันที่ 12 มกราคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ส่งผลจังหวัดชายทะเลทางภาคใต้ จังหวัดชายทะเลภาคใต้ ประกอบด้วยจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และนครศรีธรรมราช อาจได้รับผลกระทบฝนตกหนัก คลื่นลมแรง น้ำทะเลหนุสูง ระหว่างวันที่ 12 -13 มกราคม 2568
ล่าสุดเมื่อช่วงเช้าวันที่ 12 ม.ค.68 บริเวณชายฝั่งพื้นที่บ้านแหลมตะลุมพุก หมู่ 3 ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง ถูกคลื่นทะเลสูงและแรงซัดเข้าช่วยฝั่ง ร้านอาหารบริเวณแหลมตะลุมพุก สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของนครศรีธรรมราช ได้รับผลกระทบหลายร้าน นอกจากนี้คลื่นทะเลยังซัดขยะ เศษซากอุปกรณ์ทำประมงและสิ่งปฏิกูลต่างๆ จำนวนมาก ขณะที่บริเวณถนนเลียบชายฝั่งแหลมตะลุมพุก คลื่นทะเลซัดพาขยะเป็นจำนวนมากเข้าท่วมผิวจราจร รถไม่สามารถสัญจรผ่านได้
ส่วนสถานการณ์ที่บ้านท่าเข็น หมู่ 2 ต.ท่าพระยา อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ญาติๆ มีการจัดงานบำเพ็ญกุศลศพนายทน แก้วขาว 43 ปี ถูกคลื่นทะเลซัดเข้าท่วมพื้นที่จัดงานศพ ญาติๆและชาวบ้านต้องช่วยกันขนย้ายหีบศพกันจ้าละหวั่น สอบถามนางพิมพ์ เจ้าของบ้าน เล่าว่า ตั้งช่วงกลางดึกมีฝนตกหนักต่อเนื่อง กระทั้งช่วงเช้าท้องทะเลมีคลื่นสูงและลมแรงซัดเข้าบริเวณบ้าน สถานที่จัดงานศพ โดยไม่ทันตั้งตัว ญาติๆ ต้องช่วยกันขนหีบศพและเก็บข้าวของ เก้าอี้ โต๊ะไปไว้ในที่ปลอดภัย ล่าสุดนายกิตติพงษ์ รองเดช นายอำเภอปากพนัง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่เร่งลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านเป็นการเร่งด่วนแล้ว
ส่วนที่ชายหาดบัวแก้ว ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช คลื่นทะเลซัดกระหน่ำแนวชายหาดเสียหายเป็นวงกว้างกินพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งหลายกิโลเมตร โดยเฉพาะหน้ารีสอร์ทบัวแก้ว ของนางจรรยา ถูกคลื่นทะเลซัดชายฝั่งจนถึงหน้าห้องพัก ต้องเร่งอพยพลูกค้าออกจากที่พักกันจ้าละหวั่น เพรระเกรงว่าคลื่นทะเลซัดกระหน่ำห้องพักพังถล่ม ได้รับอันตรายต่อชีวิต ในขณะที่นางจรรยา เจ้าของรีสอร์ท ออกมาเรียกร้องภาครัฐให้มีการสร้างแนวกันคลื่น ซึ่งก่อนหน้านี้มีการก่อสร้างแล้ว แต่แนวก่อสร้างยังไม่ถึงหน้าห้องพัก คาดว่าหากยังไม่มีการสร้างแนวกันคลื่น ชายหาดหน้าห้องพักจะกัดเซาะห้องพังถล่มเสียหายอย่างแน่นอน
ล่าสุดสถานการณ์ทะเลคลื่นลมแรงประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณชายฝั่งทะเล ส่งผลให้ประชาชน 4 ตำบล 750 ครัวเรือน ของอ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย ตำบลแหลมตะลุมพุก ตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก ตำบลท่าพยา และตำบลขนาบนาก นอกจากนี้ถนนสายหลัก ปากพนัง – หัวไทร และ ปากพนัง – แหลมตะลุมพุก ถูกน้พทะเลท่วมขังเศษขยะท้องทะเลถูกซัดเกลื่อนถนนเป็นช่วง ๆ
นายสัญชัย อายุ 65 ปี ชาวประมงพื้นบ้านหมู่ 3 ต.แหลมตะลุมพุก เล่าว่า หลังทราบข่าวกรมอุตุแจ้งเตือน ตนและชาวประมงพื้นบ้านอพยพเคลื่อนย้ายเรือประมงพื้นบ้าน รวมทั้งเครื่องมือประมงที่ใช้ทำมาหากิน ขึ้นฝั่งที่ปลอดภัย เพราะก่อนหน้านี้เคยเรือประมงได้รับความเสียหายแล้ว 7 ลำ หลังจากนี้คงหยุดออกดเรือหาปลานานนับเดือน จนกว่าสถานการณ์การมรสุมคลื่นลมแรงจะสงบ
ขณะที่นายสมชาย ลีหล้าน้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สั่งการนายกิตติพงษ์ รองเดช นายอำเภอปากพนัง บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอำเภอ สมาชิก อส. อำเภอปากพนัง เร่งช่วยเหลืออพยพเคลื่อนย้ายสิ่งของจำเป็น และทรัพย์สินที่มีค่าออกจากบ้าน พร้อมประสานแขวงทางหลวง สำรวจเคลียร์ เส้นทาง ทำความสะอาดขยะบนถนน ส่วนครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ประกอบด้วย ตำบลแหลมตะลุมพุก จำนวน 750 ครัวเรือน ,ตำบลปากพนังฝั่งตะวันออกจำนวน 400 ครัวเรือน,ตำบลท่าพญา จำนวน 200 ครัวเรือน และตำบลขนาบนาก จำนวน 375 รวม 1,725 ครัวเรือน