มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงนามความร่วมมือกับ 2 มหา’ลัยชั้นนำของประเทศไต้หวัน เพื่อวิจัยฟื้นฟูป่าชายเลน พร้อมส่งเสริมแลกเปลี่ยนทางวิชาการร่วมกัน
เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (มวล.) เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์(มวล.) กับ National Chung Hsing University (NCHU) และ National Sun Yat-sen University (NSYSU)ประเทศไต้หวัน เพื่อร่วมมือกันในการวิจัยการฟื้นฟูป่าชายเลน และส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดีในฐานะหัวหน้าโครงการการยกระดับคุณภาพเชิงวิชาการด้าน Blue Carbon ของมหาวิทยาลัยไทยสู่ระดับนานาชาติ ที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการ Reinventing University สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมผู้บริหาร อาจารย์และนักวิจัยของทั้ง 3 สถาบันเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมช่อประดู่ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ทั้งนี้การลงนามความร่วมมือระหว่างมวล.และ NCHU มุ่งเน้นไปที่การวิจัยในการฟื้นฟูป่าชายเลนร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การปกป้องชายฝั่ง และการจัดการระบบนิ
เวศอย่างยั่งยืน ส่วนความร่วมมือระหว่าง NSYSU ครอบคลุมการแลกเปลี่ยนนักวิชาการ นักวิจัย และนักศึกษา การดำเนินโครงการวิจัย ตลอดจนการร่วมจัดการบรรยายและการประชุมวิชาการ การแบ่งปันความรู้และข้อมูลการวิจัย รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรสองปริญญาด้วย
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้จัดทำขึ้นภายใต้กรอบการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติของม.วลัยลักษณ์ในเรื่องการกักเก็บคาร์บอนจากป่าชายเลนและหญ้าทะเล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสําคัญของคาร์บอนสีน้ำเงินในการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยของเราจะร่วมมือกันเพื่อทําความเข้าใจและจัดการกับระบบนิเวศเหล่านี้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น เราจะบุกเบิกหาแนวทางใหม่ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่จะแก้ไขปัญหาความท้าทายในปัจจุบัน แต่จะสร้างความมั่นใจในเรื่องของโลกที่มีความสะอาดและดีขึ้นสําหรับคนรุ่นถัดไป ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การแสวงหาความรู้ทางวิชาการอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นความรับผิดชอบต่อชุมชนที่เราดูแลและต่อโลกโดยรวมด้วย
อย่างไรก็ตามการลงนามความร่วมมือนี้ ดำเนินการไปพร้อมกับการจัดกิจกรรม Walailak International Workshop for Mangrove and Seagrass Carbon Sink โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลายมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วม