Headline Stress Disorder คือ ภาวะความเครียด หรือภาวะวิตกกังวล ที่เกิดจากการเสพข่าวสาร ข้อมูล สื่อต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียร์มากเกินไป โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดียที่เปิดให้คนอ่านข่าวได้ตลอด 24 ชม. จนเกิดเป็นความกังวลจนเกินพอดี หรือที่เรียกว่าอาการ Panic นั่นเอง
Headline Stress Disorder เกิดจากอะไร?
สาเหตุหลักมาจากการรับชมเนื้อหาสื่อสาธารณะต่าง ๆ มากเกินไป ตัวอย่างเช่น
หนังสือพิมพ์ นิตยสาร รายการวิทยุ พอดแคสต์ รายการโทรทัศน์ รายการข่าวประจำวัน คลิปวีดีโอ
สามารถเกิดได้จากความตั้งใจเข้าไปเสพเนื้อหาเอง หรือจากการเห็นเนื้อหาซ้ำ ๆ เป็นจำนวนมาก จากการรับรู้สื่อในรูปแบบเหล่านี้เป็นระยะเวลานาน คล้ายกับการมีคนมากระซิบบอกข้อมูลข่าวสารใส่หูเยอะ ๆ จนไม่สามารถโฟกัส และแยกแยะได้ว่า ควรจะจัดเก็บข้อมูล หรือสิ่งที่ได้ยินอย่างไร
หากสิ่งที่เสพเข้าไป เป็นข้อมูลที่สร้างความเครียด ความโศกเศร้า ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ อย่างเช่น ข่าวการเสียชีวิตของคนดัง หรือคนที่เคยรู้จัก ข่าวเศรษฐกิจตกต่ำลง ข่าวการขึ้นราคาสินค้าที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน ข่าวการเลือกตั้ง ข่าวสงคราม และความขัดแย้งที่รุนแรง
นอกจากนี้ การได้เห็นเนื้อหาข้อมูลในแง่ดีบางอย่างก็สามารถส่งผลทำให้เกิดภาวะ Headline Stress Disorder ได้ อย่างเช่น ข่าวการประสบความสำเร็จของบุคคล ข่าวการรับรางวัล ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับตนเอง เกิดความไม่มั่นใจ น้อยเนื้อต่ำใจ จนนำไปสู่สภาพจิตใจที่ไม่มั่นคงตามมา
อาการของ Headline Stress Disorder
อาการทางกาย
แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวกใจสั่น จังหวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ นอนไม่หลับ นอนหลับยาก หรือนอนหลับไม่สนิท รู้สึกไม่ค่อยสดชื่นระหว่างวัน ง่วงซึม อยากอาหารน้อยลง หรืออาจกินมากเกินกว่าปกติ ท้องเสียหรือท้องผูก ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับตนเอง
อาการทางจิตใจ
ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำได้ อาจสร้างแนวโน้มที่จะทำงานผิดพลาดได้มากขึ้น
ความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ น้อยลง รู้สึกวิตกกังวล ไม่สบายใจกับอนาคตที่กำลังจะเข้ามา
ซึมเศร้า รู้สึกว่าตนเองไม่ดีพอหรือไม่มีค่า อารมณ์แปรปรวน โกรธหรือหงุดหงิดง่ายกว่าปกติเก็บเนื้อเก็บตัว
กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นภาวะ Headline Stress Disorder
คนที่เหนื่อยล้าทั้งทางจิตใจ และร่างกาย อย่างเช่น อาจกำลังเครียดเรื่องงาน ครอบครัว การเรียน พักผ่อนไม่เพียงพอ เจ็บป่วย อยู่นั้น อารมณ์จะอ่อนไหวง่าย เมื่อมาเสพข่าวที่หดหู่ก็จะเครียดได้ง่าย
คนที่มีโรควิตกกังวล หรือซึมเศร้า จะถูกกระตุ้นได้ง่ายจากการเสพข่าวที่หดหู่
คนที่ใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์เยอะ มีโอกาสที่จะรับรู้ข่าวทั้งที่จริงและปลอม ทั้งดีและร้ายได้มาก
คนที่ขาดวิจารณญาณในการเสพข่าว อาจจะเป็นด้วยวัย วุฒิภาวะ หรือบุคลิกภาพ มีแนวโน้มจะเชื่อพาดหัวข่าวในทันทีที่เห็นได้ง่าย
วิธีแก้อาการ และ วิธีป้องกัน Headline Stress Disorder
งดอ่าน งดรับชมข่าว หรือข้อมูลที่มีหัวข้อสร้างความอ่อนไหวทางจิตใจ อย่างเช่น ข่าวเกี่ยวกับความตาย การสูญเสีย การฆ่าตัวตาย หรือหัวข้ออื่น ๆ ที่ทำให้สภาวะจิตใจไม่มั่นคง หากเครียดมาก อาจงดเสพข่าว หรือใช้สื่อสังคมออนไลน์ไปสักพัก
จำกัดเวลาในการรับชมสื่อ ปรับช่วงเวลาในการรับชมสื่อให้น้อยลง เพื่อลดโอกาสรับรู้สื่อที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจในระยะยาว
อย่าเสพข่าวก่อนนอน เพื่อให้สมองได้พัก และนอนหลับได้ดี
อย่าเชื่อพาดหัวข่าวที่เห็นในทันที เพราะพาดหัวข่าวมักใช้คำที่กระตุ้นอารมณ์ เพื่อดึงดูดให้คนสนใจ แนะนำให้อ่านรายละเอียดของข่าวด้วย
พยายามมองหาสิ่งที่ดีในข่าวที่อ่านบ้าง ทุกอย่างมีทั้งด้านดีและร้ายเสมอ
เลือกช่องทางการรับรู้ข้อมูล ควรจำกัดบางช่องทาง บางเพจ หรือบางแพล็ตฟอร์ม เพื่อลดโอกาสที่สื่อเหล่านั้นจะรบกวนจิตใจได้ อย่าเปิดรับทุกข้อมูลที่ผ่านเข้ามาโดยไม่ได้คัดกรองก่อน
หากิจกรรมใหม่ ๆ ทำ เลือกรับชมสื่อต่าง ๆ อยู่ในระดับที่พอดี ไม่มากเกินไป ออกไปพบปะเพื่อน ชอปปิง ดูหนัง อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย เพื่อให้ออกห่างจากข่าวสาร และข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องรับชมอยู่ตลอดเวลาบ้าง เพื่อให้ได้รับประสบการณ์กิจกรรมใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ นอกเหนือจากการเสพข่าวบนอินเทอร์เน็ต
หันมาพูดคุยบ้าง อย่างเช่น ชวนคนใกล้ตัวคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สอบถามสิ่งที่สงสัย ควรใช้วิจารณญาณในการรับข้อมูลต่าง ๆ อยู่เสมอ หรือหากไม่แน่ใจ รู้สึกไม่ดีเกี่ยวกับเนื้อหาส่วนใด ลองแบ่งปันหรือสอบถามคนใกล้ตัว เพราะสิ่งที่รู้มาจากอินเทอร์เน็ตอาจมีด้านอื่น ๆ อีกก็ได้
ฝึกการรับมือกับความเครียด อาจลองปรึกษาจิตแพทย์ดูสักครั้ง หรือการลองฝึกปล่อยวาง มองทุกปัญหาที่เข้ามาว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ ทำความเข้าใจที่มาที่ไปของผลลัพธ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน และไม่ผูกติดความรู้สึก หรือความคิดของตนเองไว้กับทุกข้อมูลที่ได้รับจากสื่อต่าง ๆ